เด็กดื้อ…ทำให้ครูอาสาอึ้ง ทึ่ง หลายอย่าง น้ำใจกับถ้อยคำที่ห่วงใย ผมช่วยถือไหมครับ หนักไหมครับ

แรกได้ยินคำว่าเด็กดอย ผมนึกถึงเด็กน้อยหน้าตามอมแมมที่ไม่ค่อยได้อาบน้ำ ทั้งที่ลำธารน้ำใสไหลผ่าน หมู่บ้าน ซอแหมะ เป็นชื่อโรงเรียนและหมู่บ้านนั้น อาจไม่คุ้นชื่อนี้กันนัก แต่ถ้าเอ่ยถึงทิโพจิ หลายคนคงร้องอ๋อ….ทว่าซอแหมะยังดิบและยังคงความเป็นชนเผ่าอยู่ชนเจน ขนาดคนนำทางขอร้องให้คัดเสื้อผ้าบริจาคออกก่อน เพื่อเขาจะได้ใช้ชุดชนเผ่าต่อไป …ผมจึงตัดสินใจที่จะไปในทันทีที่อ่านโครงการจบ..และเริ่มสะสมของเล่นไว้ ฝากเด็กจนได้กล่องใหญ่

โครงการลาพักร้อนไปสอนเด็กดอย ตั้งชื่อได้สะดุดตาสะดุดใจ แม้แต่คุณกนก (ข่าวข้นคนข่าว) อ่านแล้วยังบอกว่าอยากลาพักร้อนไปจัดรายการบนดอย นับว่าครูต้อมประสบความสำเร็จตั้งแต่คิดชื่อโครงการเลยทีเดียว  สถานที่จัดรุ่นสองนี้ก็นับว่ามองการไกลไปมากกว่าการศึกษาเน้นการท่องเที่ยว และกิจกรรมวันเด็ก จนรู้สึกว่ายังไม่ได้ทำหน้าที่ครูเลย โชคดีที่มีบรรพตอยู่ใกล้ ๆ……ได้พูดคุยยามเช้าที่นอกชานบ้านไม้ไผ่ยามเช้าคราวสายหมอกหยอกเอินกับ ริ้วประกายฉายแสงตะวัน…ข้าวสารอาหารไก่โปรยปรายเรียกลูกเจี๊ยบพร้อมแม่ไก่ มาล้อมวง และอุ้มไก่ชนเดือยคมมาชมเชยอวดครูอาสา นี่จะตี(ชนไก่)ได้แล้ว

หากค่ำคืนแรกครูก้อยไม่หลอกล่อให้สี่สาวร้องเพลงประกอบการเต้นรำ ท่าเต่าสี่ขา… คงไม่ชินตาผมนัก แต่เห็นภาพอังคณาหน้าทะเล้นที่เต้นหน้าเต๊นท์ อย่างสดใส ในคืนสลัว บรรยากาศแรกของครูอาสาเริ่มชัดเจนและอยู่ในความทรงจำสืบเนื่องจากการแบกถุง ผักมากมายแต่ไม่ค่อยมีใครกินไปบ้านบนเนิน(สองเนิน) แม่ของภาณุ บรรพต และบอมส์

กับข้าวมื้อแรกเริ่มชุลมุนเมื่อครูอาสารุ่นหลานหายหน้าหายตาไปชมลำธารกันหมด นาแมโหล (เรียกผิดหรือเปล่า) เจ้าของบ้านพยายามสื่อสารและพูดคุย จนเมื่อยมือจึงสรุปได้ความว่าช่วยทำให้พวกเรากินด้วยละกัน รอทำเองคนอดแน่ ๆ วันต่อมาภาระนี้จึงสืบทอดมายังบอมส์บ้าง แม่นาแมโหลบ้าง  อิ่มอร่อยประทับใจไม่รู้ลืมจริง ๆ สักวันคงมีโอกาสได้ย้อนไปกินอีกสักมื้อ หรืออาจย้ายไปรวมสังสรรค์ที่บ้านมะแต ญาติกัน

กิจกรรมวันถัดมาก็สนุกครึกครื้นแต่ค่อนข้างคุ้นเคย ประทับใจการล้อมวงกินข้าวของนักเรียน จากบ้านห้วยน้ำดิบที่พนมมือระลึกถึงพระ คุณข้าวก่อนลงมือกิน  ตื่นเต้นขึ้นอีกเมื่อเด็กจากบ้านปางมะขามป้อมลุยมาโชว์จะคึ คุณสหชาติ (กรรมการโรงเรียนฯ) ตีกลองได้สะใจมากจนขากลับต้องแวะพูดคุยกัน ยังติดค้างเรื่องโรงเผาขยะขององค์การอนามัยโลก รวมทั้งอาหารมื้อเย็นและการนอนพักค้างคืน ที่ปางมะขามป้อมขอติดค้างไว้ก่อน เพราะต้องรีบเดินทาง  กระทั่งถึงเกมส์ลูกข่างที่วัยรุ่นรอคอย….ก็ต้องยอมรับว่าไม่รู้กติกาแต่ ท่าทางของนักกีฬาแต่ละคนสุดยอดจริง ๆ ขอบอก ไม่ได้สอนเรียนรู้ก็ยังดีเนอะ

การเดินทางไปน้ำตกระยะทางสี่กิโลเมตรดูไม่ไกลนัก แต่สุขภาพและภาระที่ไปด้วยก็ทำเอาเดี้ยงไปเลยอดอยู่รอบกองไฟจนเลิก ไม่งั้นคงได้เห็นครูข้าวกับครูก้อยโต้รุ่งแน่ ๆ
น้ำตกชั้นสองงดงามใช้ ได้ทีเดียว ชั้นหนึ่งก็เล่นน้ำสนุกมีที่กระโดดน้ำด้วย เห็นว่าบางคนกระโดดลงมาแบบลื่น ๆ แต่เสียงครูเสียงเด็กเชียร์กันน่าสนุกสนาน  ระหว่างทางประสิทธิ์เด็ก ดื้อ…ทำให้ครูอาสาอึ้ง ทึ่ง หลายอย่าง ท่าเต้นระหว่างพักกับบทเพลงของครูแก้ว น้ำใจกับถ้อยคำที่ห่วงใย ผมช่วยถือไหมครับ หนักไหมครับ หาเก็บมมะขามป้อมมาให้ครู หาไม้ไผ่มาให้ทำไม้เท้า กับเด็กชายเด็กหญิงที่จำชื่อไม่ได้อีกหลายคน เอ้อ คนถือไข่ผู้หญิงทำไข่แตก แต่เด็กผู้ชายถือไข่มือซ้าย มือขวาเอื้อมไปตัดไม้ไผ่ใช้ทำไม้เท้า…ไข่ไม่มีแตกเพราะครูป้อมสั่งให้ รักษาเท่าชีวิต   ข้าวและกับข้าวในกระบอกไม้ไผ่มื้อนั้นสุดแสนอร่อยจนต้องจดจำครูจะแนะและครู ต้อม ไปตลอด  รวมถึงกาแฟในถ้วยไม้ใผ่ที่เด็กน้อยบรรจงชงให้แม้จะเป็นกาแฟซองธรรมดา แต่คำถามอย่างบริสุทธิ์จริงใจ ทำให้คนไม่กินกาแฟต้องลองชิม และชื่นชมว่าเป็นกาแฟแก้วที่วิเศษสุดในชีวิตที่ได้ลิ้มลอง

กิจกรรมเดินศึกษาธรรมชาตินี้ก็สุดยอดครับ ได้คลุกคลีร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเด็ก ๆ  ภาณุ ก็มีความสุขในการถ่ายภาพ จนคิดว่าถ้ารวยกว่านี้จะซื้อกล้องไปฝากทันที ….ขากลับประสิทธิ์เก็บขยะกลับมาจากที่เด็กอีกคนขว้างทิ้งกลางทาง น่าชมเชย ไม่ได้ให้รางวัลหรอกนะแต่เห็นเด็กเขาอ้อนว่าครูมีพลาสเตอร์ไหม ไม้โก๋งเก๋งบาด….ดื้อซนแล้วยังรู้จักอ้อน ก็ให้ไว้ซื้อยานะนะไม่ใช่รางวัล ในความรั้น ๆ บางครั้งความน่ารักก็ฉายแวว ให้ประจักษ์ เหลือเชื่อจริง ๆ นี่แหละเด็กคือผ้าขาวที่บริสุทธิ์รอการแต่งเติมจากใคร….อืมมมม น่าจะจากคนมีหน้าที่โดยตรงก่อนและก็คนในสังคม ประเทศชาติที่ต้องช่วยกันละนะ โดยเฉพาะครูอาสาทั้งหลาย…เพราะผมเองก็ไม้ใกล้ฝั่งเข้ามาทุกทีแล้ว

กิจกรรมรอบกองไฟในคืนอำลา แม้ผมจะไม่ได้อยู่ร่วมจนงานเลิก ก็รับรู้ถึงความตั้งใจจริงของครูต้อมและคณะผู้จัดที่วางระบบแบบแผนไว้อย่าง ดี รวมทั้งความร่วมมือร่วมใจของคนในหมู่บ้าน ตั้งแต่จัดหาชุดชนเผ่าให้สาว ๆ และร่วมงานกันอย่างครึกครื้น

ลาพักร้อนมาสอนเด็กดอยอาจจะใหม่และไม่คุ้นเคยกับกิจกรรมที่ผมเคยทำในโครงการ ตามรอยครูซัน กับกิจกรรมในโอเคเนชั่น ที่คณะมักเป็นศิลปิน นักร้อง วาดรูป แต่อาจเป็นด้วยระยะเวลากับบุคลากร การที่ยังไม่ได้ร่วมกลุ่มกันแต่แรก ซึ่งที่สุดแล้วก็รู้สึกประทับใจในโครงการ ในตัวเด็ก ชาวบ้าน ผู้จัดโครงการ ครูอาสาทุกคน อาจจะพิเศษที่โดดเด่นคือครูก้อย ครูข้าว ครุข้าว  ครูส้ม ครูป้อม  ครูมาร์ค ครูวี  …… คนอื่นก็พิเศษโดดเด่นแต่ผมจำไม่ได้เพราะแก่แล้ว

คงหมดเวลาของการบ้านแล้ว แต่นี่คือความประทับใจที่อยากบอกให้รับรู้
ครูเอก

บางเรื่องราวที่ยังลงไม่จบ
รูปบางส่วน

Copy Protected by Chetan's WP-Copyprotect.