การบูรณาการโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง

หลังจากประชุมประจำเดือนมีนาคมเสร็จ เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ได้รับภารกิจให้เข้าร่วมฝึกอบรม โครงการแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ระหว่างวันที่ ๕ – ๗ มีนาคม ๒๕๕๔ โดยงบประมาณและความร่วมมือของ ๓ หน่วยงานหลัก สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานประมงจังหวัดเชียงใหม่ มีผู้เข้าร่วมอบรมเป็นครู ศศช. จาก กศน.อำเภออมก๋อย กศน.อำเภอแม่แจ่ม กศน.อำเภอกัลยานิวัฒนา ครูจากโรงเรียนตำรวจตระเวณชายแดน และครูจาก สพป.เชียงใหม่เขต ๕ จำนวน  ๑๖๐ คน ณ บ้านพักทัศนาจร ตำบลป่าแดด อำเภอเมืองเชียงใหม่ และศึกษาดูงานที่ศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงภาคเหนือ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

ครั้งแรกที่ได้รับทราบว่าต้องเข้าฝึกอบรมผมคิดเอาไว้ก่อนว่า คงจะเหมือน ๆ เดิมกับที่อบรมไปปีที่แล้ว แต่ก็ตั้งใจจะมาเอาความรู้ด้านการเพาะเห็ด เพราะพื้นที่กันดารอย่างบ้านแม่ฮองกลาง ไม่สามารถเลี้ยงสัตว์ที่ต้องให้อาหารสำเร็จรูปได้ เพราะอุปสรรคด้านการขนส่ง จึงตั้งเป้าหมายว่าจะนำไปประยุกต์ใช้ในเรื่องที่พื้นที่อำนวยให้ คือการปลูกผัก เพราะบ้านแม่ฮองกลางมีน้ำตลอดปี แต่ช่วงหน้าแล้งก็มีปัญหาเรื่องน้ำบ้างแต่ไม่ถึงกับขาดน้ำ การปลูกผักและการเพาะเห็ดจึงเป็นประเด็นที่ให้ความสนใจเป็นพิเศษ ในการฝึกอบรมครั้งนี้

เมื่อเข้าฝึกอบรมครั้งนี้ กลับได้ความรู้ใหม่ในเรื่องการจัดตั้งสหกรณ์ในชุมชน และเรื่องการเกษตรอินทรีย์ที่เคยเข้ารับการอบรมหลายต่อหลายครั้ง แต่ครั้งนี้ก็ได้รับความรู้ใหม่เรื่องการเพาะหนอนชีวภาพ เพื่อเป็นอาหารเสริมให้กบ และการทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ รวมทั้งการขยายพันธุ์พืชในวิธีการต่าง ๆ  ซึ่งไม่คาดมาก่อนว่าองค์ความรู้ที่เราคิดว่าเรารู้นั้น เป็นองค์ความรู้ที่น้อยนิดในกะลาครอบ เมื่อเทียบกับองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่ได้รับในการฝึกอบรมในครั้งนี้

ก่อนเข้ารับการอบรม เคยมีความคิดว่าน่าจะส่งน้อง ๆ ครู กพด.เข้ารับการอบรมบ้าง เพราะส่วนใหญ่คนที่ได้รับการฝึกอบรมจะเป็นครูหลักในแต่ละ ศศช. ซึ่งส่วนใหญ่ดูไฟใกล้มอด จึงอยากให้น้อง ๆ ครู กพด.ได้เปิดหูเปิดตา เปิดโลกทัศน์บ้าง

จึงหวังได้ว่าครูผู้เข้ารับการฝึกอบรมในครั้งนี้ คงจะนำความรู้ที่ได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับศูนย์การเรียนฯ เพื่อเด็ก ๆ และชุมชนที่คุณครูเหล่านั้นอยู่ในชุมชน เพราะงบประมาณในการฝึกอบรมครั้งนี้ ๓ หน่วยงานข้างต้น ร่วมระดมงบประมาณมาจัดฝึกอบรมเป็นจำนวนเงินถึงสองแสนกว่าบาท

ช่วงท้ายของการฝึกอบรม ได้รับแบบสอบถามแสดงความต้องการ เพื่อรับความช่วยเหลือพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ก็เขียนกันไปตามความต้องการของแต่ละชุมชน แต่ละศูนย์การเรียน ส่วนบ้านแม่ฮองกลางนอกจากพันธุ์ผักทั่ว ๆ ไปแล้วยังได้ขอพันธุ์ไม่ยืนต้นไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น น้อยหน่า มะพร้าว มะรุม มะม่วง ขนุน ขี้เหล็ก แค

เป็นความโชคดีหลังจากฝึกอบรมเสร็จแล้ว ได้มีโอกาสแวะไปเยี่ยมเยือน อาศรม นเมติ อำเภอแม่ริม ก็ได้รับความอนุเคราะห์พันธุ์มะพร้าว ๒ ลูก และพันธุ์ระมุม ๕ ฝัก เพื่อนำไปปลูกบนดอยบ้านแม่ฮองกลาง

หากท่านได้อ่านบทความนี้แล้ว ถ้าที่บ้านมีน้อยหนา ขี้เหล็ก แค มะม่วง หรือขนุน เมื่อรับประทานเสร็จแล้ว กรุณาเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ ตากให้แห้งสัก ๒ – ๓ แดด แล้วส่งมาสมทบเป็นพันธุ์ไม้ผลที่จะนำไปปลูกบนดอยได้ จักเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

Copy Protected by Chetan's WP-Copyprotect.