เมื่อความจำเป็นเรื่องปากท้อง สำคัญกว่าการเรียน

กรกฎาคมต่อไปยังเดือนสิงหาคมเป็นเดือนที่ลำไยออกสู่ทองตลาด ปีนี้ถึงแม้ลำไยในท้องตลาดจะราคาไม่ดี ลำไยขนาด AA ราคากิโลละ ๑๕-๑๖ บาท แต่ผลกระทบตกอยู่กับเจ้าของสวนเท่านั้น สำหรับชาวบ้านบนดอยและเด็กโตที่มารับจ้างขึ้นลำไย กลับไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะปีนี้ลำไยออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก (ตามความเห็นของผู้เขียน) เด็ก ๆ อายุ ๑๒-๑๖ ปีในหมู่บ้านหลายคนจึงออกมากับผู้ปกครอง มากับญาติ หรือมากับเพื่อน เพื่อมาหารายได้เสริมไปช่วยจุนเจือครอบครัว การเดินทางออกมารับจ้าง บางส่วนก็ออกมากับรถขายอาหารที่เข้าไปตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม ซึ่งฝนยังไม่ตกมาก  พอถึงปลายกรกฎาคมเดือนฝนตกชุกคนที่ออกมาหลัง ๆ จึงเดินเท้าออกจากหมู่บ้านแม่ฮองกลาง ออกมาทางบ้านแม่ปะน้อย บ้านห้วยม่วง ตำบลแม่สวด อำเภอสบเมย เพื่อมาขึ้นรถทางปากทางอุทยานแห่งชาติแม่เงา อำเภอสบเมย เพื่อขึ้นรถโดยสารต่อเข้าอำเภอแม่สะเรียง เข้าอำเภอฮอด และอำเภอจอมทอง บางส่วนข้ามแม่น้ำปิงไปยังฝังจังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตลำไย แหล่งใหญ่ในภาคเหนือ การออกมาทำงานปีนี้ถือเป็นครั้งแรกของเด็กหลาย ๆ คนที่ได้ออกมาทำงานนอกหมู่บ้าน ครั้นจะห้ามเด็กออกนอกหมู่บ้านก็ไม่ได้ ในเมื่อความจำเป็นเรื่องปากท้อง ยังเป็นสิ่งที่พ่อแม่ หรือแม้แต่ตัวเด็ก ๆ เองก็รับรู้ได้ ว่าหากท้องยังไม่อิ่มแล้ว มีหรือจะมีคิดเรื่องชีวิต เรื่องอนาคตได้ เรื่องของปากท้องจึงสำคัญกว่าเรื่องอื่นเสมอ เพราะชีวิตตั้งแต่เกิดมาก็มีแต่น้ำพริกเป็นอาหารหลักสามมื้อ เช้า-กลางวัน-เย็น

Copy Protected by Chetan's WP-Copyprotect.