การต่อสู้ทางความคิด เพื่อแย่งศิษย์-หลาน

 ครูก้อยหนึ่งในอาสาสมัครที่เคยร่วมกิจกรรม เป็นผู้ที่คอยสนับสนุนทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังอยู่หลายกิจกรรม หลังจากที่ได้ร่วมกิจกรรมเมื่อปี 2552 ปัจจุบันได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีม 4Dekdoi และได้ร่วมกิจกรรม Visit Dekdoi 2012 เมื่อวันที่ 25 – 28 มกราคม 55 ที่ผ่านมา และคงได้เห็นสภาพบนดอยที่เปลี่ยนไป จึงได้ถามผมว่า “เป้าหมายคืออะไร”

เป็นคำถามที่ผมต้องคิดย้อนกลับไปเมื่อมาเป็นครูอาสาในกลางเดือนมีนาคม 2553 สภาพที่เห็นในตอนนั้น มันไม่มีอะไรเลย มีแต่อาคารเรียนที่ใช้ในการเรียนการสอนอย่างเดียวเท่านั้น สวนกล้วยที่มีรอบบริเวณถามไปถามมา ก็ไม่ใช่ของศูนย์การเรียน แล้วอะไรที่ควรทำตามเป้าหมายที่ได้รับมอบมา หลาย ๆ กิจกรรมจึงเป็นการทำแบบผสมผสานดังนี้
– กลุ่มเป้าหมายนักเรียนด้อยโอกาสในถิ่นทุรกันดาร 3 – 15 ปี
– ส่งเสริมการรู้หนังสือในกลุ่มผู้ใหญ่-ผู้ใช้แรงงาน
– การส่งเสริมสุขภาพอนามัยแม่และเด็ก
– การอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
– การอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น
– การส่งเสริมภาวโภชนาการในเด็กวัยเรียน
– โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน
– การลดภาวะการขาดสารไอโอดีนในเด็กพื้นที่สูง
– กิจกรรมด้านอนามัยเด็กวัยเรียน

การที่เด็กในชุมชนเติบโตขึ้นมาเมื่ออายุได้ 14 – 15 ปี เด็กและวัยรุ่นก็จะออกไปทำงานนอกหมู่บ้าน เพื่อเก็บเงินช่วยเหลือครอบครัว ทั้งขึ้นลำใย เลี้ยงควาย เฝ้าสวน เก็บและคัดมะม่วง ซึ่งพื้นที่ทำงานก็จะเป็นแถบอำเภอฮอด ดอยเต่า จอมทอง และสันป่าตอง หรือนอกจังหวัดเชียงใหม่ก็มี

กิจกรรมหรือเรื่องอะไรสำคัญที่สุดในระยะยาว คงต้องบอกว่าเรื่องการขยายโอกาสทางการศึกษาของเด็กในชุมชน ผมจึงนำแนวความคิดอยากเอาเด็กที่พอมีแวว เข้าไปคุยกับผู้ปกครองทีละบ้านทีละครอบครัว หลาย ๆ ครอบครัวยินดีให้เด็กไป มีบางส่วนเด็กกำลังเติบโตเป็นแรงงานในไร่ได้ก็ตอบเชิงปฏิเสธ

มีอยู่ครอบหนึ่ง แม่เด็กถามผมว่า “ถ้าให้ไปเรียนจะได้รถมอเตอร์ไซด์หรือเปล่า” ผมตอบไปว่า “ถ้าไปเรียนจบ จะได้มากกว่ารถมอเตอร์ไซด์นะ” แล้วเด็ก ๆ ก็มาเล่าให้ฟังภายหลังว่า ตาเขาไม่อยากให้ไปเรียน อยากให้สืบทอดพิธีกรรมต่าง ๆ ที่ตาเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมอยู่ในปัจจุบัน ที่เวลามีการเลี้ยงผี-ทำพิธีกรรมต่าง ๆ จะถูกเชิญไปเป็นคนประกอบพิธี

2 เดือนผ่านไป ได้ทราบข่าวว่า ตาได้ซื้อรถมอเตอร์ไซด์ให้หลานไปเรียบร้อยแล้ว คงพอเดาเหตุผลได้ ว่าไม่อยากให้เด็กลงมาเรียน เนื่องจากครอบครัวนี้มีการเลี้ยงวัวและควายไว้หลายตัว จึงดูมีฐานะกว่าครอบครัวอื่น ซึ่งปัจจุบันวัวและควายที่เลี้ยงไว้ก็ราคาตัวละเป็นหมื่นบาท

ความต้องการของผมอยากให้เด็กที่มีแวว ได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น การศึกษาที่ครูในแต่ละหมู่บ้านไม่สามารถจัดการได้ การศึกษาในระบบที่โอการต่อยอดดีกว่าการเรียนในศูนย์การเรียนของหมู่บ้าน แต่ต้องมาต่อสู้กับแนวความคิดแบบดั้งเดิมที่ต้องการให้เด็กเป็นผู้สืบทอดพิธีกรรม

ประเพณีทุกประเพณี ไม่ว่าจะเก่าแก่โบราณขนาดไหน ย่อมควรจะได้รับการอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานภูมิใจในภายภาคหน้า แต่ถ้าเด็กมาเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น โอกาสและอนาคตวันข้างหน้าของเด็กในถิ่นทุรกันดารห่างไกล  น่าจะดีกว่าเป็นเป้าหมายระยะยาวที่คิดและฝันไว้

Copy Protected by Chetan's WP-Copyprotect.