ลาพักร้อน มาสร้างโรงเรียนดิน

ปกติกิจกรรมครูอาสาจะเป็นรูปแบบ “ลาพักร้อน มาสอนเด็กดอย” จะให้อาสาสมัคร หรือที่เรียกว่า “ครูอาสา” จัดกิจกรรมกับเด็กเป็นส่วนใหญ่ แต่ด้วยสภาพอาคารของ ศศช.บ้านแม่ฮองกลาง ที่สร้างมาหลายปี เริ่มผุพังตามกาลเวลา ปลวกกินไม้

“ลาพักร้อน มาสร้างบ้านโรงเรียนดิน” จึงเกิดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ให้อาสาสมัคร ได้ร่วมกิจกรรมที่สร้างสรรสิ่งดี ๆ ไว้ให้กับศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านแม่ฮองกลาง จึงเป็นที่มาของการปรับปรุงเป็นโรงเรียนดินในครั้งนี้

ถึงจะเป็นครั้งที่ ๒ ในกิจกรรมที่อมก๋อย แต่ก็สร้างความประทับใจให้กับคณะอาสาได้ไม่น้อย หลาย ๆ ท่านได้กลับมาอีกครั้งจากที่เคยมาแล้วในรุ่นบุกเบิก เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๓ ซึ่งการกลับมาครั้งนี้ ไม่ได้มาตัวคนเดียว ก็ไปชักชวนกลุ่มเพื่อน ๆ ที่ชอบงานอาสาเพื่อสังคมคล้าย ๆ กัน ชอบความลำบาก ชอบลุย ๆ เหมือน ๆ กันมา

รุ่นบุกเบิก ก็ต้องแปลกใจ ที่มีอาสาที่เป็นถึง ผอ.โรงเรียน แห่งหนึ่งในเขตบางซื้อ กรุงเทพฯ มีข้าราชการครู มีข้าราชการทหาร และเภสัชกร เข้าร่วมกิจกรรม ต้องแปลกใจอีกครั้ง ในครั้งนี้ที่มีอาสาเป็นหมอฟัน ซึ่งคุณครูหมอ ได้ระดมความช่วยเหลือต่าง ๆ มาฝากเด็กดอยมากมาย พร้อมทั้งเลี้ยงไก่ทอดอาหารกลางวันเด็กดอย พร้อมของหวานตอนเย็นก่อนเลิกกิจกรรม

อาสาทุกท่านที่ได้ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ต่างทุ่มเทแรงกายแรงใจที่เตรียมมา สร้างความประทับใจกับเด็ก ๆ อย่างเต็มที่ ซึ่งนอกจาก คุณครูหมอจะทำอาหารเลี้ยงเด็กเสร็จแล้ว ก็ยังลงไปย่ำดินกับเด็ก ๆ ด้วย
ครูบัว ไปน้ำตกมาแล้วยังไม่หมดแรง ยังมาสอนต่อในตอนเย็น
ครูเฉด ที่เตรียมสื่ออุปกรณ์การสอน มาอย่างดี

ของฝากที่ถูกใจในครั้งนี้ต้องบอกว่าเป็นเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศ เพราะมะเขือเทศที่เคยซื้อจากรถขายของ ตั้งใจจะเอามาทำน้ำพริกกิน ถูกเด็ก ๆ ขอกินยังกับผลไม้ เลยเอาเมล็ดเสียบ ๆ ไว้กับแปลงผักบุ้ง ซึ่งขณะนี้โตใกล้จะกินได้แล้ว และเด็ก ๆ ขอกินตลอด

ของฝากอีกชิ้นที่อดที่จะกล่าวถึงไม่ได้คือ หนังสือเรียนภาษาไทย ป.๑ หลักสูตร ๒๕๔๔ ทั้งเล่ม ๑ และเล่ม ๒ ซึ่งเล่ม ๒ ปกสีเขียว แทบจะหาซื้อไม่ได้แล้วที่เชียงใหม่ ที่ต้องกล่าวถึงเพราะหนังสือ ๒ เล่มนี้ได้นำมาเป็นสื่อในการสอนเด็กบ้านแม่ฮองกลางแล้ว ทำให้เด็กเรียนรู้ภาษาไทย ได้เร็วขึ้น เนื่องจากเนื้อหาเหมาะสำหรับเด็ก

ส่วนของอื่น ๆ ที่ครูอาสาจัดหามาให้นั้น ก็มากมายพอที่จะแบ่งไปยังศูนย์การเรียนอื่น ๆ อีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ยารักษาโรค เครื่องเขียน อุปกรณ์กีฬา และเสื้อผ้าเด็กอ่อน ขอบคุณผู้ใหญ่ใจดี ที่ไม่ได้ร่วมกิจกรรม แต่ได้มอบของต่าง ๆ ให้ไว้ ณ โอกาสนี้

หลายท่าน ที่มาใหม่เคยทำกิจกรรมหลายอย่างบอกว่า “เคยเดินป่าเป็นวัน แต่ไม่เคยนั่งรถขึ้นดอยเป็นวัน”
หลายท่าน เหมือนจะถูกชักชวน โดยคำว่า “มันลำบากนะ ไปแล้วลำบาก โทษกันไม่ได้นะ”
หลายท่าน ที่มาแล้วมาอีก เพิ่งจะบอกให้รู้ว่า “ชอบความลำบาก”

ความประทับใจทั้งหมด เกิดขึ้น และฝังอยู่ในจิตใจของครูอาสาหลาย ๆ คน
ถึงขนาดที่คุณครูหมอ และครูเฉด ปรึกษากันถึงการเลี้ยงอาหารกลางวันเด็กล่วงหน้า ในรอบต่อไปปลายปี ๕๔
ถึงขนาดที่อาสาหลายท่านเรียกร้อง ให้จัดกิจกรรมที่บ้านแม่ฮองกลาง อีกโดยให้เปิดรับอาสาสมัครกลุ่มที่เคยร่วมกิจกรรมบ้านแม่ฮองกลาง

รอบนี้ครูนุช ไม่ยอมขึ้นรถคันที่ออกจากหมู่บ้านเป็นคันสุดท้าย สอบถามได้ความว่าไม่อยากเสียน้ำตาเป็นรอบที่ ๒

ขอบคุณครูอาสา โดยเฉพาะครูพี่โต้งที่นอกจากได้ไปชักชวน โน้มน้าวเพื่อน ๆ ให้มาร่วมกันทำกิจกรรมในครั้งนี้ ยังขับรถเอาของบริจากมาจากกรุงเทพฯ มาส่งถึงอมก๋อย ก่อนกลับรถยางแบนเพราะเหยียบตะปูเข้า, คุณก๋า และคุณปิง ก็ขับรถมาส่งของให้ถึงอมก๋อยแต่ไม่ได้ขึ้นดอยร่วมกิจกรรม เพราะติดภารกิจด่วน

อาสาสมัครทั้ง ๔ ท่าน คือ คุณก๋า คุณปิง คุณน้าไช่ ครูพี่เอก ไม่ได้ร่วมกิจกรรม ได้เตรียมเงินไว้เพื่อจะคืนให้ แต่ทั้ง ๔ ท่าน ได้แจ้งความประสงค์ไม่รับเงินคืน ทำให้ค่าใช้จ่ายลงตัวพอดี ก่อนเดินทางกลับ ครูอาสายังได้บริจาคเงินไว้เพื่อกิจกรรมของศูนย์การเรียนฯ จำนวน ๒,๐๐๐ บาท

ขอขอบคุณครูอาสาท่านอื่น ๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึง  ทุกท่านล้วนมีส่วนทำให้กิจกรรมครั้งนี้ผ่านไปได้ด้วยความประทับใจ

Copy Protected by Chetan's WP-Copyprotect.