หลังคารั่ว ฝนลมแรง อ้อยล้ม

๑ ปีที่ผ่านมาตั้งแต่มาอยู่ ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านแม่ฮองกลาง ผมผ่านฤดูฝนมาแล้ว ๑ ฤดู และกำลังจะเข้าอีก ๑ ฤดู แต่ “ทำไมสังกะสี มันผุพังเร็วจังหว่า” เป็นคำบ่นในใจคนเดียว ที่ได้เห็นสภาพฝนตก แล้วต้องเอาถังมารองน้ำรอบ ๆ ศูนย์การเรียนเมื่อเวลาฝนตก ปี ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา เริ่มมาอยู่ในชุมชนเป็นฤดูแล้ง  พอเข้าฤดูฝนดินที่ทับถมผนังอาคารเรียน ทำให้ไม้ผุพัง ไม่รู้ว่าดินถล่มลงมาทับตั้งแต่ปีไหน แต่รู้ได้ว่าตอนนั้นผนังอาคารเรียนมันโดนปลวกกินไปเยอะแล้ว คิดว่ารอไม่ไหวแล้ว รอก็ไม่มีงบมาซ่อม เพราะระบบราชการ งบประมาณไม่เพียงพอ จึงเป็นที่มาของคำว่า “โรงเรียนดิน” ปรับปรุงผนังอาคารเรียนกับเด็ก ๆ และคนในชุมชน พร้อมทั้งเปิดให้ผู้ใหญ่ใจดีเข้าไปทำกิจกรรมกับเด็ก ๆ ในเดือนกุมภาพันธ์ ๕๔ ที่ผ่านมา เข้า เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ๒๕๕๔ ฝนกระหน่ำลงมาตลอด ไม่ได้สานต่อผนังดินให้เสร็จสิ้น แต่ปัญหาเรื่องผนังอาคารเรียนก็ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป มาเจอปัญหาใหม่ “หลังคารั่ว” งานเข้าอีกแล้ว เมื่อได้ไปสำรวจดูดี ๆ จึงได้รู้ว่าสังกะสีที่ใช้อยู่เป็นสังกะสีมือสอง มีรอยตะปูโหว่เกือบทุกแผ่น ปีนี้คงอาการหนัก

อบรม…อบรม…(อบรมบ่มนิสัย)

ก่อนขึ้นดอยเดือนมิถุนายน ทราบว่ามีชื่อติดโผ ในรายชื่อผู้ที่ต้องไปอบรมที่ลำปาง อบรมอีกแล้ว อบรมอะไรก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าต้องไปอบรม ทำให้ผมอิดออด อยากทำงานในพื้นที่มากกว่า ไม่อยากไปอบรม ด้วยเพราะมีเรื่องราวไม่ค่อยดีเกี่ยวกับการที่ครูต้องไปอบรม ที่ได้ยินอยู่บ่อย ๆ เสียงส่วนใหญ่ของชาวบ้านในพื้น เป็นเสียงสัญญาณไปในทางลบที่กล่าวหาว่าครูมัวแต่ไปอบรม ทำงานบนดอยไม่เต็มที่ เป็นเหตุให้ผมไม่อยากไปอบรม อีกประการคือคนที่ถูกส่งไปอบรมหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา ไม่เห็นเอามาใช้ในงานเลย ไม่เห็นมาบอกมาเล่าเลยว่าไปอบรมอะไรมา จะเอามาใช้ในงานอย่างไรบ้าง ด้วยเหตุผลนานาประการ ผมจึงรอครูนิเทศก์อยู่บนดอยกะว่า ถ้าขึ้นไปนิเทศก์รอบนี้ จะบอกว่าผมไม่ไปอบรมได้ไหมให้น้อง ๆ คนรุ่นใหม่ไฟแรง ไปอบรมแทนดีกว่า ผมจะขอทำงานในพื้นที่ แต่ผิดคาดครับ ครูนิเทศก์ไม่ได้เข้าไปที่บ้านแม่ฮองกลาง ด้วยถนนที่เข้าลำบากมาก เพราะถนนเป็นดินเหนียว ถนนทำใหม่ โดนฝนเข้าไป เละเป็นโคลนครึ่งขา ทำให้ผมต้องตะกายทั้งเข็ญทั้งดัน รถจักรยานยนต์คู่ชีพเพื่อนเดินทาง ลงดอยมาในวันกำหนดไปอบรม ลงมาถึงอมก๋อย ก็พยายามสอบถามหาข้อมูลว่าไปอบรมอะไร ได้ข้อมูลแต่เพียงว่าให้นำคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คไปด้วย กำหนดการณ์อย่างอื่นยังไม่ได้คำตอบ เมื่อเดินทางไปถึงสถานที่อบรม ศูนย์พัฒนาอนามัยพื้นที่สูง อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง บรรยากาศการอบรม ไม่เคร่งเครียด มีผู้ร่วมอบรมเป็นครู กศน.จากจังหวัดน่าน ทำให้รู้ว่าอบรมเที่ยวนี้แตกต่างจากหลาย ๆ ครั้งที่เคยไปอบรมมา

อึ่งอ่างกินเดือน บนดอย

 อึ่งอ่างที่ว่านี้ไม่ใช่อึ่งจริง ๆ หรอกครับ เป็นคำพูดที่ชาวบ้านพูดให้ได้ยิน ในวันหยุดงานประจำเดือนวันหนึ่งของชาวบ้านบนดอย เพราะคืนที่ผานมาได้เกิดจันทรุปราคาขึ้น ชาวบ้านบอกว่าเมื่อคืน มีการเอาปืนมายิง ตีเกราะ เคาะไม้ เพื่อไล่อึ่งอ่างกินเดือน ฟังแล้วคุ้น ๆ กับเรื่องราวที่เคยได้ยินสมัยเป็นเด็ก เรื่องกบกินเดือน โชคดีผมเคยซื้อสื่อโปสเตอร์เกี่ยวกับระบบสุริยจักรวาล เมื่อสบโอกาส ผมก็ชี้ให้ดู นี่ไงเหตุการเมื่อคืน เกิดจาก เงาของโลก ไปบังแสงจากดวงอาทิตย์ ทำให้เกิดเหตุการจันทรุปราคาเกิดขึ้น ชาวบ้านและเด็ก ๆ รู้สึกสนใจในปรากฎการณ์นี้ และสิ่งที่ผมได้อธิบายให้ฟัง ได้ข่าวว่าจะเกิดเหตุการณ์ตั้งแต่ก่อนจะขึ้นดอย แต่พอขึ้นไปอยู่บนดอย ด้วยที่ไม่มีการติดต่อสื่อสารใด ๆ กับภายนอก จึงทำให้ลืมวันที่เกิด มารู้เอาก็ตอนนี้เด็ก ๆ และชาวบ้านหยุดกิจกรรมในไร่ ทุกอย่างเพื่ออยู่กับบ้าน ส่วนเด็ก ๆ ก็มาเรียนกันครบทุกคน ไม่ว่าชาติ ศาสนาใด ผมเชื่อว่าต่างมีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก่อน แต่ช่างบังเอิญ หรือความใกล้ชิดทางภูมิปัญญา เพียงแต่จะใช้สัญลักษณ์ของสัตว์แตกต่างกันออกไป ชนเผ่ากะเหรี่ยงว่าอึ่งอ่างกินเดือน ทางภาคอิสานและภาคเหนือ ว่ากบกินเดือน มนุษย์เราไม่ว่าจะแตกต่างทางด้านภาษา สำเนียงพูด เผ่าพันธุ์ แต่ไม่แน่ว่าเราอาจจะมีบรรพบุรุษจากเซลต้นกำเนิดเดียวกันก็เป็นได้

ธรรมชาติ ที่เกินความพอดี

ปกติ การได้นอนฟัง เสียงฝนตกกระทบสังกะสี น้ำไหล จั๊กจั่น จิ้งหรีด เรไร กบเขียดร้อง มันช่างมีความสุขใจ อย่างหาใดเสมอเหมือน หลังฤดูหนาวตั้งแต่ต้นปี เปิดน้ำใส่บ่อปลาไว้ตลอด ทั้ง ๆ ที่ไม่มีปลาในบ่อแล้ว ทำให้เมื่อฝนตกลงมา กบเขียดในพื้นที่ ต่างได้มาอาศัยบ่อปลา เป็นที่ขยายพันธุ์ ชาวบ้านก็จับพ่อแม่กบเขียด ไปกินบ้างเมื่อเวลาฝนตก ตั้งแต่เดือนมีนาคม-เมษายนที่ผ่านมา พอย่างเข้าเดือนพฤษภาคม ฝนที่ตกเร็วกว่าปีที่แล้ว ได้ทำให้ป่าไม้เขียวชะอุ่ม ทำให้สัตว์ใหญ่น้อยพันธุ์ต่าง ๆ ได้ขยายพันธุ์เร็วขึ้นไปด้วย ที่แปลกคือปีนี้ได้ยินเสียงอึ่งอ่าง ร้องในบ่อปลาด้วย เด็ก ๆ ก็อดใจไม่ไหว ไปจับมาให้ดู ผมถามเด็ก ๆ ว่าตัวแบบนี้กินไหม เด็กส่วนใหญ่บอกว่าไม่กิน มีบางหลังคาเรือนเท่านนั้นที่กินอึ่งอ่าง ผมบอกกับเด็ก ๆ ไปว่า “ตัวแบบนี้ ที่อื่นขายกันกิโลละ ๑๒๐-๑๕๐ บาท บ้านเราดีแล้วที่ไม่กิน มันจะได้ขยายพันธุ์เยอะแยะ มีอาหารตามธรรมชาติมากมาย” เด็ก ๆ ก็เอาไปปล่อยคืนบ่อปลาเหมือนเดิม พอเข้านอนเป็นเรื่องเลยครับ ห้องนอนห่างจากบ่อปลาไม่ถึง ๑๐

ข้าวไร่…วิถีชีวิตคนดอยอมก๋อย

เป็นความงดงามในวิถีชีวิตของชุมชนบนพื้นที่สูง ณ อมก๋อยแห่งนี้ ที่ยังได้เห็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ความเป็นพี่ เป็นน้อง ความสามัคคีของชุมชน ขึ้นดอยต้นเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๔ โชคดีที่ชาวบ้านปลูกข้าวยังไม่เสร็จ เลยได้โอกาสเข้าร่วมกิจกรรมปลูกข้าวกับชาวบ้าน สิ่งที่ไม่คิดว่าจะมี จะได้เห็น กลับพบเห็นได้ที่นี่ ที่อมก๋อย นั่นคือการลงแขกปลูกข้าว วันหนึ่ง ๆ ทั้งหมู่บ้าน จะไปช่วยกันปลูกข้าวของแต่ละบ้าน ซึ่งไร่ใหญ่แค่ไหน ไกล ลำบากแค่ไหน ก็ใช้เวลาเพียง สองถึงสามวัน ก็สามารถปลูกข้าวไร่เสร็จแล้ว ซึ่งวิถีชีวิตการลงแขกแบบนี้แทบจะหาไม่ได้แล้ว ในวัฒนธรรมของคนพื้นราบ ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการจ้างแรงงานแทน เป็นสุขใจที่อยู่ท่ามกลางความลำบาก แต่มากด้วยน้ำใจ ที่หาได้ยากยิ่งในยุคที่คนทำมาหาเก็บ แต่ที่นี่ คนทำมาหากิน เพื่อปากท้องจริง ๆ

สุขใดไหนเล่า ดูเจ้าเติบโต

ความสุขของแต่ละคนแตกต่างกัน บางคน มีน้อยใช้น้อย ไม่ลำบากกายก็เป็นสุขภายนอก บางคนเข้าวัดทำบุญ ไปปฏิบัติธรรม บ้างก็ได้เสียสละเล็ก ๆ น้อย ก็เป็นสุขภายใน ความสุขทางใจเป็นสุขภายใน ที่ไม่ได้วัดด้วยทรัพย์สินเงินทอง มันเป็นความสุขที่ไม่มีมาตราวัด ช่วง ตวง มาอธิบายความเป็นไปของความสุขทางใจได้ คนปลูกต้นไม้ ปลูกผักย่อมเป็นสุขทางใจ เมื่อได้เห็นต้นไม้ หรือพืชผักเหล่านั้นเจริญเติบโตขึ้น ถ้าเป็นไม้ใหญ่ ก็ได้ใช้สอย หรือให้ผลผลิต ออกดอก ออกผล ให้ได้เก็บกิน ถ้าเป็นพืชผักขนาดเล็ก ก็ได้กิน ได้แบ่งให้ผู้อื่นได้กินด้วย ยิ่งเป็นสุขใจ สำหรับสวนเกษตรของ ศศช.บ้านแม่ฮองกลาง แล้วความสุขที่ได้มีพืชผักปลอดสารพิษ บริโภคแล้ว การได้แบ่งให้ครอบครัวของเด็ก ๆ ไปบริโภค ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ บ้างถึงแม้ผักบางชนิดปลูกไม่ขึ้น เพราะมีแมลงรบกวน ความสุขอีกอย่างที่อยากบอกกล่าวเล่าขานคือ สุขใจที่ได้เห็นเด็ก ๆ กลุ่ม ที่พ้นมาจากอนุบาลเริ่มอ่านออกเขียนได้ ทำให้มั่นใจว่าเดินถูกทาง เด็ก ๆ กลุ่มนี้จะไม่ตกเป็นผู้ไม่รู้หนังสือในอนาคต งานที่เหลือ ก้าวต่อไปก็เป็นเรื่องของการสอดแทรกความรู้ ให้เด็กมีชีวิตอยู่ได้ท่ามกลางความเปลี่ยนของโลก กระแสเทคโนโลยีและความศิวิไลซ์ที่นับวันจะหลั่งไหลเข้ามาสู่ ถิ่นทุรกันดารอย่าง ตำบลนาเกียน

Copy Protected by Chetan's WP-Copyprotect.